เสียงก้อง และ เสียงสะท้อน

เสียงก้อง,เสียงสะท้อน

        ปัญหาของเสียงก้องและเสียงสะท้อนเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น ก่อนอื่นผมอาจต้องอธิบายพื้นฐานให้ทราบซักเล็กน้อยก่อนนะครับ ประการแรก ท่านเคยทราบมั๊ยครับว่า หูของเรามีหน่วยความจำด้วย จริงๆแล้วไม่ใช่หูหรอกครับ เป็นสมองที่จดจำเสียงที่เข้ามาได้ในหูของเรานั้นแหละครับ โดยสมองจะจดจำเสียงเดิมได้ประมาณ 0.1 วินาที ก่อนที่จะหายไป ประการที่ 2 ที่เราต้องทราบก่อนคือ เสียงมีการสะท้อนเหมือนลูกปิงปองกระทบกำแพงนั่นแหละ ครับ การเกิดเสียงก้องกับเสียงสะท้อน มีหลักการเกิดเหมือนกันก็คือ เสียง จะเดินทางออกจากลำโพงไป ทุกทิศทางนะครับ เพราะเสียงจะกระจายเป็นวง เมื่อเสียงเคลื่อนที่เข้ากระทบกับสิ่งกีดขวางที่มีความหนาแน่นสูงกว่า เสียงจะมีการสะท้อนกลับออกมา เช่น กำแพงหรือกระจก ที่มีความหนาแน่นสูงกว่าอากาศ เป็นต้น เมื่อเสียงสะท้อนออกมา แล้วเดินทางกลับเข้ามาที่หูอีกครั้ง ระยะเวลาของเสียงที่สะท้อนกลับมา หากไม่เกิน 0.1 วินาที เราจะได้ยินเสียงเหมือนเสียงกังวาล เราเสียงว่า เสียงก้อง หรือ Reverb ตัวอย่างเช่น ถ้าใครเคยแอบร้องเสียงในห้องน้ำ คุณจะได้ยินเสียงดังกังวาลกว่าปกติ ทำให้รู้สึกว่าร้องเพลงแล้วมีเสียงที่ไพเราะ นั่นก็เป็นเพราะว่า ผนังห้องน้ำส่วนใหญ่เราจะบุด้วยกระเบื้อง ที่มีความเรียบและแข็งทำให้การสะท้อนของเสียงเป็นระเบียบแต่เนื่องจากระยะห่างจากผนังห้องน้ำกับตัวเราอยู่ไม่ห่างกันมากนัก ทำให้เสียงที่สะท้อนกลับมีระยะเวลาไม่เกิน 0.1 วินาทีนั่นเอง นั่นก็หมายความว่า ถ้าคุณไปร้องเพลงในห้องน้ำที่มีขนาดห้องแตกต่างกัน ก็จะได้เสียงที่ต่างกันด้วยนะครับ แล้วถ้าเสียงที่สะท้อนกลับมามันนานกว่า 0.1 วินาทีล่ะ เสียงที่เราได้ยิน จะกลายเป็น 2 เสียงที่ซ้อนกัน เราเรียกเสียงนี้ว่า เสียงสะท้อน หรือ ECHO เช่น การใช้เสียงในห้องโถงขนาดใหญ่ เป็นต้น ปรากฎการทั้ง 2 นี้ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย นะครับ อย่างที่ทราบเสียงก้อง ทำให้เราเสียงของเราฟังดูมีพลังมากขึ้น จึงได้มีการทำอุปกรณ์จำลองเสียงดังกล่าว เพื่อมาแต่งเสียงร้องและเสียงดนตรีให้มีความกังวาลไพเราะมากขึ้น เช่น Rever , เอคโค่ หรือ delay ซึ่งมีด้วยกันหลากหลายยี่ห้อ แต่ยี่ห้อที่ถือได้ว่าเป็นที่ยอมรับ เช่น Digitech , Lexicon , Alesis เป็นต้น ภายหลัง ได้มีการเพิ่มฟังก์ชั่นนี้เข้าไปไว้ในมิกเซอร์(Mixer) เกือบแทบทุกรุ่นเลยก็ว่าได้ทำให้การปรับแต่งเสียงไม่ว่าจะเป็นเสียงร้องหรือเสียงดนตรี จึงทำได้สะดวกง่ายได้มากขึ้น แต่เมื่อมีข้อดีก็ย่อมต้องมีข้อเสียเป็นธรรมดา สำหรับนักออกแบบระบบเสียง ไม่ว่าเป็นระบบเสียงประกาศ ห้องประชุม ห้องเรียน ห้องสัมนา ล้วนแล้วแต่ไม่มีใครปรารถนาให้เกิดเสียงก้องหรือเสียงสะท้อนแน่นอน เพราะเสียงก้องหรือเสียงสะท้อนจะทำให้การประกาศหรือการพูดนั้นไม่มีความชัดเจนทำให้ฟังไม่รู้เรื่อง ซึ่งนี่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ เช่น เหตุการที่เกิดที่สถานีรถไฟ ขณะมีเหตุฉุกเฉิน เมื่อผู้ประกาศประกาศเตือนแต่ด้วยเสียงที่สะท้อนทำให้ไม่สามารถเข้าใจข้อความได้ จึงทำให้ประชาชนที่อยู่ใน ชานชาลาหนีไม่ทัน เป็นต้น

    แต่ทุกปัญหาย่อมต้องมีทางแก้ครับ เพียงแต่ต้องยอมรับว่า การแก้ปัญหาเรื่องเสียงก้องหรือเสียงสะท้อนนั้น มีความยุ่งยากพอสมควร ผู้ผลิตลำโพงหลายยี่ห้อในโลก เช่น BOSCH , TOA ก็พยายามออกแบบลำโพงที่ลดเสียงก้อง แต่ก็ไม่สามารถทำได้ 100% เพียงแต่ ช่วยลดลงได้มากกว่า ลำโพงทั่วไป

   การแก้ปัญหาเสียงก้อง

    ปรับพื้นที่ : อย่างที่ทราบกันแล้ว การสะท้อนนั้นเกิดจากเสียงกระทบกับสิ่งกีดขวางที่มีความแข็งและเรียบ ดังนั้น การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการแก้ที่พื้นที่นั่นเอง เช่น การติดผ้าม่านบังกระจก , การปูพรมบนพื้น , การใช้แผ่นดูดซับเสียงทำฝ้าเพดาน

    เลือกลำโพงที่เหมาะสม : วิธีนี้ ถึงแม้จะไม่ได้ผล 100% แต่ก็เป็นอีกทางเลือกเมื่อเราไม่สามารถปรับพื้นที่ได้ เช่น สถานรถไฟ เราคงไม่สามารถไปปูพรมได้ ลำโพงที่จะเลือกนั้น ได้มีการออกแบบลำโพงที่เน้นเฉพาะบางความถี่ เช่น ลำโพงคอลัมน์ (Column Speaker) เป็นลำโพงที่เป็นทรงยาวในแนวดิ่ง มีลำโพงเรียงตัวกันความสูงของลำโพง เราเลือกตามความสูงของเพดานรวมถึงความไกลของพื้นที่ที่เราต้องการให้ครอบคลุม เช่น ลำโพง TOA รุ่น TZ-205 , TZ-406 , TZ-S60 เป็นต้น

    ปรับการพูด : อันนี้ไม่ได้ช่วยลดเสียงก้องหรือเสียงสะท้อนนะครับ แต่ผมแนะนำว่า ถ้าเราแก้ไขไม่ได้ การประกาศต้องเว้นวรรค ให้เหมาะสมประกาศให้สั้น และหยุดซักนิดครับ 

    เรื่องการแก้ปัญหาเสียงก้องยังมีวิธีการแก้อีกหลายวิธีนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อุปกรณ์ในการตัดเสียงก้อง การใช้ลำโพง surroud เมื่อตัดเสียง ซึ่งแต่ละวิธีการอาจต้องใช้วิศวกรที่มีความเข้าเรื่องของคลื่นพอสมควรครับ และทั้งหมดนี้ ก็เป็นบทความคร่าวๆเกี่ยวกับเรื่องเสียงก้อง,เสียงสะท้อน หากท่านมีข้อสงสัยเพื่อเติมสามารถสอบถามมาทาง email  หรือ add line มาพูดกันได้นะครับขอบคุณครับ

 

ผู้เขียน. กำชัย ตันธเนศ (วศบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

Visitors: 590,729